จาก Passion อันแรงกล้า สู่การสร้างชาติผ่านของเล่น

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer27 ก.ย. 2566 avatar writer786
จาก Passion อันแรงกล้า สู่การสร้างชาติผ่านของเล่น

 

ญี่ปุ่น ประเทศแห่งพ็อปคัลเชอร์ที่โดนใจคนทั้งโลก ไม่ว่าพ็อปคัลเชอร์นั้นจะเป็นดนตรี, แฟชั่น, อนิเมะ, คอสเพลย์ รวมไปถึงของเล่น ที่ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างชาติของญี่ปุ่น เปรียบเสมือนผู้กล้าที่ยอมเสียสละให้คนทั้งประเทศได้เหยียบย่ำขึ้นไป จนกลายเป็นที่รู้จัก และมีจุดยืนที่มั่นคงของตัวเองในทุกวันนี้

 

ซึ่งแน่นอนว่าอุตสาหกรรมของเล่นญี่ปุ่นในปัจจุบัน มีหลายธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และได้รับการอ้าแขนต้อนรับอย่างอบอุ่นจากลูกค้านานาประเทศ ยกตัวอย่างเช่น Bandai (บันได) บริษัทผู้ผลิตของเล่นที่ทำรายได้เป็นอันดับ 2 ของโลกในปี 2022 และ Tomy Company บริษัทผู้ผลิตของเล่นลิขสิทธิ์จากการ์ตูนเรื่องดัง ไม่ว่าจะเป็น Pokémon, Demon Slayer หรือ BEYBLADE (เบย์เบลด) อีกหนึ่งบริษัทจากญี่ปุ่นที่ทำรายได้ติดอันดับโลกในปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

 

 

แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ เส้นทางของ 'ของเล่น' ในญี่ปุ่นไม่เคยมีคำว่าง่าย มันล้วนผ่านบททดสอบอันหนักหน่วงมาแล้วมากมาย จนเราแทบจินตนาการภาพกันไม่ออกเลยว่า ของเล่นธรรมดา ๆ จะมีความสามารถในการนำพาประเทศชาติให้มีที่ยืนหยัดบนแผนที่โลกอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไร

 


 

เกือบจะได้แจ้งเกิด ดันมาโดนคุมกำเนิดเสียก่อน

 

อย่างที่เรารู้กันดีว่า ญี่ปุ่น เป็นประเทศแห่งความละเมียดละไม พิถีพิถัน และใส่ใจในทุก ๆ รายละเอียด นั่นเลยทำให้บรรดาสิ่งประดิษฐ์รวมไปถึงงานฝีมือที่มาจากผลงานของช่างฝีมือชาวญี่ปุ่นมีความพิเศษและแตกต่างจากชาติอื่น แต่จุดอ่อนข้อเดียวของญี่ปุ่นที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณเลยก็คือ การขาดเวทีให้ได้ปล่อยของ และโอ้อวดสรรพคุณของตัวเองให้เป็นที่รู้จัก

 

ย้อนกลับไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปี ค.ศ. 1914 - 1918) หลายประเทศทางฝั่งยุโรปมีความวุ่นวายกับการเตรียมพร้อมรับมือกับสงครามกันหนักมาก ส่งผลทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก กิจการห้างร้านจำเป็นจะต้องหันหลังให้กับธุรกิจของตัวเอง ก่อนจะเปลี่ยนมาซัปพอร์ตการทำงานของกองทัพในแง่ของการผลิตยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ แทน

 

เยอรมนี ประเทศที่มีบทบาทสำคัญมากในตอนนั้น ได้เผลอชะล่าใจปล่อยให้ประเทศเล็ก ๆ ที่อยู่ในอีกซีกโลกหนึ่งอย่างญี่ปุ่น ให้ได้เห็นข้อได้เปรียบของตัวเองขึ้นมา กับความพยายามที่จะก้าวขึ้นมาเป็น เจ้าแห่งอุตสาหกรรมของเล่น แทนที่เยอรมนี ส่งผลทำให้ญี่ปุ่นมีความฮึกเหิมในการผลิตของเล่นส่งไปขายยังต่างประเทศเป็นอย่างมาก แถมยังได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาล เลยเป็นผลทำให้ตัวเลขของการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดิม 4 เท่า ในระยะเวลาเพียงแค่ 5 ปี เห็นได้ชัดว่าโอกาสทองในครั้งนี้ ญี่ปุ่นไม่มีทางที่จะยอมปล่อยให้หลุดมือไปง่าย ๆ  แต่ทว่า…

 

 

 

ปี 1938 เศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่นเกิดหยุดชะงัก สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างญี่ปุ่นกับนานาชาติ ที่ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเกิดการคว่ำบาตร มิหนำซ้ำยังถูกอายัติทรัพย์สินจากธนาคาร ก่อนที่ทุกอย่างจะเลวร้ายลงหลังเหตุการณ์การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในปี 1941 (ชนวนเหตุนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2) ที่เปลี่ยนญี่ปุ่นให้กลายเป็นประเทศยากจน ประชาชนต้องอยู่กันอย่างแร้นแค้น ขาดแคลนวัตถุดิบที่ทำเงินให้กับประเทศ เรียกได้ว่าพลิกชีวิตจากที่กำลังจะดี ให้ทิ้งดิ่งลงมาอย่างน่าเสียดาย

 


 

การลงสนามครั้งใหม่ของผู้แพ้ โดยมีจุดยืนบนแผนที่เป็นเดิมพัน

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี 1945 ทางญี่ปุ่นก็ได้ยอมรับสภาพการเป็นผู้แพ้ของตัวเองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ก่อนจะปัดฝุ่นและเดินหน้าต่อไปกับบทบาทการเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกของเล่น ภายใต้การนำของชายที่ชื่อ Matsuzo Kosuge (มัตสึโซ โคสุเกะ)

 

Matsuzo Kosuge ภาพจาก Matt Alt

 

 

มัตสึโซ โคสุเกะ อดีตช่างฝีมือที่มีบทบาทสำคัญมากกับวงการของเล่นญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยจุดเด่นของชิ้นงานของโคสุเกะเมื่อเทียบกับช่างฝีมือชาวญี่ปุ่นคนอื่น ๆ จะอยู่ที่ไอเดียในการผลิตของเล่น ที่ช่างฝีมือชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะผลิตของเล่นโดยอาศัยการเลียนแบบจากของเล่นเยอรมันมาอีกที แต่ของเล่นของโคสุเกะมีความแตกต่างไม่เหมือนใคร หนึ่งในผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขาในตอนนั้นเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก หุ่นยนต์ของเล่นตัวแรกของโลก ที่มีชื่อว่า Lilliput (ลิลลิพุต) 

 

 

Lilliput (ลิลลิพุต) หุ่นยนต์ของเล่นตัวแรกของโลก ภาพจาก Matt Alt

 

 

ซึ่งความยากของการเริ่มต้นใหม่ในครั้งนี้ คือโคสุเกะจะต้องเริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์ เพราะสภาพบ้านเมืองของญี่ปุ่นตอนนั้น แค่มีอาหารพอประทังชีวิตไปวัน ๆ ก็นับว่าดีมากแล้ว อาจจะเป็นเพราะพรสวรรค์ที่หลับใหลมานานได้ถูกปลุก เลยเป็นเหตุทำให้โคสุเกะมีความกระตือรือร้น ดิ้นรนหาทางให้ตัวเองสามารถกลับมาผลิตของเล่นได้ดังเดิม โคสุเกะเลยได้ก่อตั้งบริษัทผลิตของเล่นเฉพาะกิจของตัวเองขึ้นมา โดยมีคนงานผู้ช่วยเป็นชาวบ้านธรรมดา ๆ แค่ไม่กี่คน คำถามที่ตามมาหลังจากนั้นคือ เขาจะผลิตของเล่นอะไร ที่จะเป็นใบเบิกทางทำให้ญี่ปุ่นกลับมามีที่ยืน และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศได้อีกครั้ง

 

 

บอกเลยว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นอะไรที่สุ่มเสี่ยงมาก ด้วยระยะเวลาที่ทิ้งห่างจากสงครามไปได้ไม่นาน แถมสภาพจิตใจของคนญี่ปุ่นในตอนนั้น ถ้าให้พูดในภาษาบ้าน ๆ เราขอใช้คำว่า ไม่เอาอะไรแล้ว ถ้าผลตอบรับที่ออกมาล้มเหลว โคสุเกะอาจจะไม่มีที่ยืนในสังคมอีกต่อไป ในฐานที่ตัดสินใจทำอะไรโดยพลการ ไม่ได้ดูความเหมาะสมของสถานการณ์บ้านเมืองเอาเสียเลย แต่ถ้าผลตอบรับออกมาในทิศทางที่ดี นั่นก็แปลว่าการตัดสินใจในครั้งนี้อาจจะนำไปสู่การ มาร์กจุดยืน บนแผนที่โลกของประเทศญี่ปุ่นกันได้อีกครั้ง

 


 

Passion สร้างคน ➡️  คนสร้างของเล่น  ➡️  ของเล่นสร้างชาติ

 

ถ้าเป็นเรา หลังจากรับรู้ถึงความเสี่ยงที่ตามมา ก็อาจจะพาให้ไขว้เขวจนล้มเลิกกลางคันก็เป็นได้ แต่ด้วยแพสชันความเป็นช่างฝีมือที่มีอยู่ในตัว ส่งผลทำให้โคสุเกะตัดสินใจเดินหน้าต่อ และด้วยแพสชันที่มีอยู่ในตัวอีกด้วยเช่นกัน ที่ทำให้โคสุเกะตัดสินใจเลือกผลิตของเล่นชิ้นแรกขึ้นมา โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการชื่นชอบรถยนต์เป็นการส่วนตัว ที่ถือว่าเป็นอะไรที่น่าตื่นตาและแปลกใหม่ในสายตาคนญี่ปุ่นในยุคนั้น

 

ซึ่งโชคชะตาก็ได้เข้าข้าง เพราะในขณะที่โคสุเกะกำลังหาไอเดียในการผลิตรถของเล่นอยู่ เขาก็ได้บังเอิญไปเจอกับ รถจี๊ป ยานพาหนะที่ทหารอเมริกันใช้ในการสัญจรไป-มา ณ ตอนนั้น ที่คนญี่ปุ่นน้อยคนมาก ๆ จะสามารถเข้าใกล้กับยานพาหนะชนิดนี้ได้เหมือนอย่างเขา โคสุเกะเลยถือโอกาสอันดีทำการสำรวจทั้งภายในและภายนอกของตัวรถ พร้อมเก็บรายละเอียดทุกอย่างออกมา แต่ด้วยความที่เครื่องไม้เครื่องมืออาจจะยังไม่พร้อม สิ่งที่มีติดตัวในตอนนั้นดันมีแค่ผ้าขนหนูผืนเดียว โคสุเกะเลยตัดสินใจใช้ประโยชน์จากมันแทนเครื่องมือวัดขนาด แม้ทุกอย่างจะไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดิมที่เคยทำ แต่ตัวเขาก็พยายามสุดความสามารถ ให้รถของเล่นชิ้นนี้ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้

 

 

รถจี๊ปของโคสุเกะ ของเล่นชิ้นแรกที่ถูกทำขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยได้แรงบันดาลใจมาจากรถจี๊ปของทหารอเมริกัน ภาพจาก Matt Alt

 

 

ในปี 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเพียงแค่ 4 เดือน รถจี๊ปของโคสุเกะ ของเล่นชิ้นแรกหลังสงครามก็ได้ถูกนำออกมาวางขาย โดยวัสดุหลักที่ใช้มาจากเศษซากกระป๋องที่ถูกทิ้งเกลื่อนอยู่ตามพื้น ที่ทางตัวของโคสุเกะไปร้องขอจากทหารอเมริกันมาอีกที รถจี๊ปของโคสุเกะนอกจากจะเป็นของเล่นชิ้นแรกในช่วงเวลานั้นแล้ว มันยังเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยชิ้นแรกที่ถูกทำออกมาวางขายหลังสงครามด้วย โดยราคาขายของรถจี๊ปคันนี้ถูกวางไว้ที่คันละ 10 เยน หรือเทียบเท่ากับค่าอาหารตามแผงลอย 1 มื้อ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า รถจี๊ปชุดแรกที่ถูกผลิตออกมา สามารถขายหมด 100 คันในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ซึ่งนี่ถือเป็นสัญญาณที่สะท้อนออกมาให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ญี่ปุ่นจะกลับมามีจุดยืนบนแผนที่โลก ผ่านการใช้ 'ใบเบิกทาง' อย่างของเล่น

 

ผลตอบรับที่ออกมาทำให้โคสุเกะเดินหน้าผลิตรถจี๊ปของเล่นแบบเต็มกำลัง มีการขยายฐานการผลิตจากโรงเรือนเล็ก ๆ ก็ได้กระจายตัวออกไปสู่ย่านชุมชน จากตัวเลขที่ผลิตออกมาในหลักร้อย ก็เริ่มขยายวงออกไปในหลักพัน ก่อนจะขยับขึ้นมาสู่หลักแสน ในระยะเวลาเพียงแค่ 1 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก แถมกลุ่มลูกค้าที่ซื้อไปไม่ได้มีแค่คนญี่ปุ่นอย่างเดียว แต่ยังมีทหารอเมริกันที่ตั้งรกรากอยู่ในญี่ปุ่น ณ ตอนนั้น ที่ได้อุดหนุนรถจี๊ปของเล่นคันนี้ไปเป็นของฝากให้กับคนทางบ้านของพวกเขากันด้วย

 

 

 

ถ้าถามหาเหตุผลว่าเพราะอะไร รถจี๊ปของเล่นของโคสุเกะถึงได้ขายดี เหตุผลส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า การที่ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกาในตอนนั้น อาจจะมีคนญี่ปุ่นบางส่วน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ๆ) มองภาพว่าสหรัฐอเมริกาคือภาพสะท้อนของผู้ชนะ ดังนั้นรถจี๊ปที่ทำออกมาวางขาย แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ของเล่น แต่มันได้สะท้อนภาพของการเป็นตัวแทนของผู้ชนะอยู่ในนั้น ที่สำคัญทางโคสุเกะยังได้อานิสงส์ในการโปรโมทผ่านบรรดารถจี๊ปที่สัญจรไป-มาอยู่ทั่วทั้งเมือง โดยที่ตัวเขาแทบไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร และอานิสงส์จากความสำเร็จของโคสุเกะในครั้งนี้ ได้เปิดทางทำให้ช่างฝีมือชาวญี่ปุ่นคนอื่น ๆ ได้กลับมาหยิบจับเครื่องมือก่อนจะสร้างสรรค์ผลงานของเล่นในแบบของตัวเองตามมาหลังจากนั้นกันด้วย

 

 

 

 

ตั้งแต่นั้นมาภาพของความสำเร็จก็ค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นในแง่ของ การมีอำนาจในการต่อรองกับต่างประเทศ ที่ทางอเมริกาได้ใช้ของเล่นจากญี่ปุ่นมาเป็นหลักประกันในการนำเข้าอาหารและวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ส่งผลทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นดีขึ้น ความสัมพันธ์อันคลุมเครือระหว่างผู้แพ้กับผู้ชนะก็ค่อย ๆ ต่อติดกัน โดยมีผลประโยชน์ระหว่างกันเป็นสื่อกลาง ซึ่งเงื่อนไขของการส่งออกของเล่นไปขายยังต่างประเทศนี้ ได้ผลักดันทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักในฐานะอื่น (ที่ไม่ใช่ประเทศผู้แพ้สงครามอีกต่อไป) แถมยังทำให้มูลค่าของอุตสาหกรรมของเล่นในญี่ปุ่น พุ่งทะยานสู่ 8,000 ล้านเยน ในระยะเวลาเพียงแค่ 8 ปี (จากเดิมที่ทำไว้ 8 ล้านเยนในปี 1947)

 

ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องยกความดีความชอบให้แพสชันที่ไม่ได้มอดไหม้ไปพร้อมกับไฟสงครามของโคสุเกะกับรถจี๊ปของเล่นของเขา ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ผลักดันให้ช่างฝีมือคนอื่น ๆ กล้าที่จะออกมาแสดงความสามารถของตัวเอง ร่วมกันสร้างชาติให้เป็นที่รู้จักผ่านของเล่น เป็นบันไดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จของบริษัท Bandai บริษัทผู้ผลิตของเล่นที่ทำรายได้เป็นอันดับ 2 ของโลกในปีที่ผ่านมา ที่มีจุดเริ่มต้นขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกันกับการมีบทบาทของรถจี๊ปของโคสุเกะด้วย และถ้าสืบประวัติลงไปอีกนิด เราก็จะพบว่าของเล่นชิ้นแรกของบริษัท Bandai ที่ทำออกมาวางขายนั้น ได้แก่ รถจำลองของเล่น ที่เรามั่นใจมากว่ามันน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากรถจี๊ปของโคสุเกะคันนี้อย่างแน่นอน

 

ต่อให้ทุกวันนี้น้อยคนมากที่จะจดจำชื่อของมัตสึโซ โคสุเกะได้ แต่เราเชื่อว่าบริษัททำของเล่นในญี่ปุ่นส่วนใหญ่รวมไปถึง นาโอฮารุ ยามาชินะ หรือผู้ก่อตั้งบริษัท Bandai ไม่มีทางที่จะลืมชื่อ มัตสึโซ โคสุเกะ ชายผู้มีส่วนในการปลุกพรสวรรค์ และแพสชันที่หลับใหลของเขา รวมไปถึงเพื่อนช่างฝีมือคนอื่น ๆ ให้ตื่นขึ้นมา ร่วมกันสร้างชาติผ่านสิ่งที่เรียกว่า 'ของเล่น' ได้อย่างแน่นอน

 


 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : หนังสือญี่ปุ่นป็อป Pure Invention, Wikipedia, artnet, Ridiculous History 1 2, imarcgroup, Yahoo, Marketeeronline และ Statista

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น